วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เชื้อเพลิงธรรมชาติ

เชื้อเพลิงธรรมชาติ

เชื้อเพลิงธรรมชาติ แบ่งเป็นถ่านหินและปิโตรเลียมดังนี้
1.ถ่านหิน คือหินตะกอนชนิดหนึ่ง เป็นแร่เชื้อเพลิง สามารถติดไฟได้ มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำ มีความเปราะ รอยแตกเว้าคล้ายก้นหอย มีทั้งชนิดผิวมัน และผิวด้าน มีน้ำหนักเบา ถ่านหินประกอบด้วยธาตุที่สำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ไนโตรเจน (N) และออกซิเจน (O) นอกจากนี้ยังมีธาตุอื่นหรือสารอื่นเจือปนอีกเล็กน้อย เช่น กำมะถัน ถ่านหินที่มีจำนวนคาร์บอนสูงและมีธาตุอื่นต่ำ เมื่อนำมาเผาจะให้ความร้อนมากถือว่าเป็นถ่านหินคุณภาพดี
การเกิดถ่านหินต้องอาศัยปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่จะทำให้เกิดการสะสมตัวของพืช กล่าวคือต้องมีสภาพอากาศที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช บริเวณสะสมตัวต้องเป็นน้ำนิ่ง และมีปริมาณแก๊สออกซิเจนจำกัด เพื่อไม่ให้เกิดการเน่าสลายของพืชที่จะกลายเป็นถ่านหิน และปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่เหมาะสม ทำให้เกิดความกดดันและความร้อนที่จะทำให้ซากพืชแปรสภาพเป็นถ่านหิน
เมื่อแยกประเภทของถ่านหินตามลำดับชั้นการเกิด แยกได้ 5 ประเภท คือ
1) พีต (peat) เป็นชั้นแรกในกระบวนการเกิดถ่านหิน ประกอบด้วยซากพืช ซึ่งบางส่วนได้สลายตัวไปแล้วสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
2) ลิกไนต์ (lignite) มีซากพืชอยู่เล็กน้อย มีความชื้นมาก ใช้เป็นเชื้อเพลิง
3) ซับบิทูมินัส (subbituminous) มีสีดำ เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเหมาะสมในการผลิตกระแสไฟฟ้า
4) บิทูมินัส (bituninous) เป็นถ่านหินเนื้อแน่น แข็ง ประกอบด้วยชั้นถ่านหินสีดำมันวาว ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและการผลิตกระแสไฟฟ้า
5) แอนทราไซต์ (anthracite) เป็นถ่านหินที่มีลักษณะดำเป็นเงา มันวาวมาก มีรอยแตกเว้าแบบก้นหอย ติดไฟยาก เมื่อเผาไหม้จะให้ค่าความร้อนสูง ใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมต่างๆ

การใช้ประโยชน์จากถ่านหิน มีดังต่อไปนี้
1. ใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า การถลุงโลหะ การผลิตปูนซีเมนต์ บ่มใบยาสูบ อุตสาหกรรมผลิตอาหาร อุตสาหกรรมที่ต้องใช้หม้อน้ำร้อนในกระบวนการ
2. ใช้ในการทำถ่านสังเคราะห์ เป็นสารดูดกลิ่น ใช้ในเครื่องกรองน้ำ และเครื่องใช้ต่างๆ ที่ต้องการประโยชน์ด้านการดูดซับกลิ่น
3. ใช้ทำคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบา เช่น การทำเครื่องร่อน การทำอุปกรณ์กีฬา เช่น ด้ามไม้กอล์ฟ ไม้เทนนิส ไม้แบดมินตัน

แหล่งถ่านหินในประเทศไทย
แหล่งถ่านหินในประเทศไทย พบถ่านหินทุกชนิด แต่มีมากที่สุดคือถ่านหินลิกไนต์ และซับบิทูมินัส ซึ่งพบมากที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง (เหมืองแม่ทาน) อำเภองาว จังหวัดลำปาง ปริมาณถ่านหินส่วนใหญ่ในประเทศไทย นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

2.ปิโตรเลียม หมายถึงสารไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลัก 2 ชนิดคือ คาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) โดยอาจมีธาตุชนิดอื่น เช่น กำมะถัน (S) ออกซิเจน (O) ไนโตรเจน (N) ปนอยู่ด้วย ปิโตรเลียมเป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของปิโตรเลียม ความร้อน และความกดดันของสภาพแวดล้อมที่ปิโตรเลียมถูกกักเก็บ
ปิโตรเลียมเกิดจากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนที่ตายแล้วถูกย่อยสลายภายใต้อุณหภูมิและความกดดันสูงภายใต้ชั้นเปลือกโลก
สารอินทรีย์ในซากพืชซากสัตว์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีโมเลกุลใหญ่ เรียกว่า "เคโรเจน" หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นปิโตรเลียม
- ปิโตรเลียมในสถานะของเหลว เรียกว่า "น้ำมันดิบ"
- ปิโตรเลียมในสถานะแก๊ส เรียกว่า "แก๊สธรรมชาติ"
- ปิโตรเลียมที่มีสถานะแก๊ส เมื่ออยู่ในแหล่งกักเก็บและเมื่อขึ้นมาสู่ผิวโลกจะมีสถานะเป็นของเหลว เรียกว่า "แก๊สธรรมชาติเหลว"
ปิโตรเลียมจากแหล่งกำเนิดจะไหลไปตามช่องแตก รอยแยก และรูพรุนของหินไปสู่การสะสมตัวในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม
แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ
1) มีชั้นหินที่มีรูพรุน โพรง หรือช่องแตก ที่สามารถให้ปิโตรเลียมอยู่ได้ เช่น หินกรวดมน หินทราย หินปูน
2) มีชั้นหินเนื้อละเอียดปิดกั้นด้านบน ไม่ให้ปิโตรเลียมเล็ดลอดผ่านออกไปได้
รูปแสดงแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมโดยรอยเลื่อน
รูปแสดงแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมในชั้นหิน
ตารางแสดงการใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียม
ชื่อของส่วนต่างๆ
จุดเดือด ( ํC)
สถานะที่อุณหภูมิห้อง
ประโยชน์
แก๊ส ต่ำกว่า 40แก๊ส ใช้เป็นแก๊สหุงต้ม
น้ำมันเบนซิน 40 -180 ของเหลว ใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์
น้ำมันก๊าด 180 -230 ของเหลว ใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินและใช้จุดตะเกียง
น้ำมันดีเซล 230-305ของเหลว ใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล
น้ำมันเตาใส 230-305ของเหลว ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม
น้ำมันหล่อลื่น 305-405 ของเหลว ใช้ทำน้ำมันหล่อลื่น
พาราฟิน 405-515 ครึ่งแข็งครึ่งเหลวใช้ทำขี้ผึ้งพาราฟิน วาสลิน
ยางมะตอย สูงกว่า 515 ของแข็ง ใช้ราดถนน


แหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย มีดังนี้
1. แหล่งน้ำมันฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
2. แหล่งแก๊สบริษัทยูโนแคล ประกอบด้วยแหล่งแก๊สเอราวัณ บรรพต สตูล ปลาทอง ปลาแดง กะพง ฟูนาน จักรวาล สุราษฎร์ ปลาหมึก โกมินทร์ และไพลิน ซึ่งอยู่บริเวณอ่าวไทย
3. แหล่งน้ำมันสิริกิตติ์ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร
4. แหล่งแก๊สน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
5. แหล่งน้ำมันกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แหล่งน้ำมันอ่างทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
6. แหล่งนางนวล เป็นแหล่งน้ำมันดิบในอ่าวไทย อยู่นอกชายฝั่งจังหวัดชุมพร
7. แหล่งบงกช เป็นแหล่งแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย
8. แหล่งน้ำมันวิเชียรบุรีและศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
9. แหล่งทานตะวันและเบญจมาศเป็นแหล่งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติบริเวณอ่าวไทย

2 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาอ่านแล้ว ก็เข้าใจดีน่ะ
    แต่ในตารางไม่ค่อยเข้าใจเรยค่ะ

    ตอบลบ
  2. เนื้อหาดีนะ ได้นำมาสอบได้ด้วย

    ตอบลบ